ระบบกักเก็บพลังงาน มีกี่ประเภท ทำงานอย่างไร

79

ในปัจจุบัน ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ถูกนำมาใช้เป็นรูปธรรมกันมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจึงเป็นเรื่องง่ายมากขึ้นในการเก็บพลังงานไฟฟ้าไปใช้ในยามที่ขาดแคลน หรือเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง

ระบบกักเก็บพลังงาน

ระบบกักเก็บพลังงาน คืออะไร

ระบบจัดเก็บพลังงาน คือการเก็บพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ ระบบ อุปกรณ์ วิธีการ หรือเทคโนโลยี เข้ามาช่วยโดยแนวคิดนี้เกิดจากการขาดสมดุลในเรื่องของการผลิต และจำนวนการใช้ ที่ไม่สอดคล้องกันรวมไปถึงความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สามารถควบคุมได้ยกตัวอย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะกลางวันที่มีแสงแดด พลังงานลมที่ผลิตไฟฟ้าได้สูงในช่วงเช้ามืดแต่กลับเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย การผลิตพลังงานออกมาจึงเปล่าประโยชน์ ระบบเก็บพลังงานจึงเป็นทางออกเพราะสามารถบริหารจัดการรองรับความต้องการใช้งานในแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี

ระบบกักเก็บพลังงาน มีการทำงานอย่างไร

หลักการทำงานของระบบเก็บพลังงานหากจะอธิบายง่าย ๆ ก็คือเป็นการเก็บพลังงานที่ผลิตได้เกินความต้องการ เพื่อนำไปปล่อยใช้ในช่วงเวลาที่พลังงานขาดแคลนหรือมีความต้องการใช้มากเช่น แปลงพลังไฟฟ้าที่เหลือจากการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำมาเก็บไว้ในรูปของพลังงานศักย์ ด้วยการสูบน้ำไว้บนที่สูง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำรองในช่วงที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูง เป็นต้น

ระบบกักเก็บพลังงาน มีกี่ประเภท

ในบ้านเราระบบเก็บพลังงานจะมีทั้งหมด 3 ประเภทดังนี้

  1. กักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่

วิธีนี้จะใช้แบตเตอรี่เก็บสะสมพลังงานที่ผลิตมาเกิน เพื่อนำมาใช้ในยามที่ไฟฟ้าขาดแคลนหรือมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูง ช่วยลดปัญหาความไม่สม่ำเสมอ และความผันผวนในการผลิตไฟฟ้า ทำให้จ่ายกระแสไฟฟ้าได้เสถียร และต่อเนื่องยิ่งขึ้น

  1. โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ

หลักการทำงานคือนำไฟฟ้าที่ผลิตในช่วงที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าน้อยมาใช้สูบน้ำเดิมที่ใช้แล้วในอ่าง ไปเก็บไว้ อ่างพักน้ำที่อยู่สูงกว่า แล้วปล่อยน้ำลงมาผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในช่วงที่ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในแต่ละวัน วิธีนี้มีต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าต่ำ และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยมาก

3. ระบบกักเก็บพลังงาน ด้วยเซลล์เชื้อเพลิงร่วมกับพลังงานลม

เป็นการเก็บพลังงานรูปแบบก๊าซไฮโดรเจน หลักการทำงานเมื่อกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากเกินความต้องการ ก็จะถูกปล่อยไปยังเครื่องแยกน้ำด้วยไฟฟ้าโดยจะแยกก๊าซไฮโดรเจนออกมา ซึ่งไฮโดรเจนจะถูกนำไปผ่านเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อ ผลิตกระแสไฟฟ้า

สรุปก็คือ ระบบกักเก็บพลังงาน ก็เหมือนแหล่งพลังงานสำรองเพื่อให้กระแสไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้ยามที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นโดยสามารถนำมาใช้ได้ตลอดเวลา ทำให้มีการจัดการระบบพลังงานได้ง่าย คาดว่าในอนาคตด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ระบบเก็บพลังงานจะกลายเป็น  Mega Trend ของโลกอย่างแน่นอน