ช่วงนี้คงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการแพร่กระจายของ “ปลาหมอสีคางดำ” ในแหล่งน้ำธรรมชาติทำให้สัตว์น้ำท้องถิ่นลดจำนวนลงอย่างน่าตกใจ และยังแพร่ระบาดเข้าไปในบ่อเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้ง ทำให้ชาวประมงเกิดความเสียหายเพราะสัตว์น้ำที่เลี้ยงถูกกินเกือบ 90 % วันนี้เรามาทำความรู้จักปลาหมอสีคางดำกัน
รู้จักปลาหมอสีคางดำ
ปลาหมอสีคางดำหรือ Blackchin tilapia มีลักษณะภายนอก คล้ายคลึงกับปลาหมอเทศ โดยเฉพาะในปลาระยะวัยอ่อน เมื่อโตเต็มวัยจะสังเกตได้ชัดขึ้น ปลาหมอสีคางดำสัตว์น้ำต่างถิ่นครอบครัวเดียวกับปลาหมอเทศและปลาหมอสี มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ปลาหมอสีคางดำเป็นปลานักล่า สามารถวางไข่คราวละ 150-300 ฟอง โดยเพศผู้จะอมไข่ไว้ในปลาราว 2-3 สัปดาห์ และเป็นสัตว์น้ำที่อัตราลดตายสูงมาก
อาหาร : ปลาหมอสีคางดำ เป็นปลานักล่า ที่กินทั้งพืช และสัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา กุ้ง รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากปลาหมอสีมีความยาวของลำไส้มากกว่า 4 เท่าของความยาวลำตัวปลา และมีระบบการย่อยอาหารที่ดี สามารถย่อยกุ้งได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 นาทีซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปลาหมอสีคางดำ มีความต้องการอาหารอยู่แทบตลอดเวลา ประกอบกับนิสัยของปลาค่อนข้างดุร้าย เมื่อเทียบกับปลาหมอเทศ
ปลาหมอสีมาจากไหน
ในปี พ.ศ. 2549 กรมประมงได้อนุญาตให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอสีคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข ต่อมาปี พ.ศ.2553 ทางบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารฯ ได้นำเข้าปลา 2,000 ตัว ทำการทดลองที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสาคร แต่ต่อมาปลาทยอยตายหมด แต่หลังจากนั้น 2 ปี พบการระบาดของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่ดังกล่าว
ปลาหมอสีคางดำสัตว์น้ำผิดกฎหมาย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2561 สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์ตามประกาศที่ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงเว้นแต่
จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ได้แก่
- ปลาหมอสีคางดำ Sarotherodon melanotheron (RÜppell,1852)
- ปลาหมอมายัน Cichlasoma urophthalmus (GÜnther,1862)
- ปลาหมอบัตเตอร์ Heterotilapia buttikoferi (Hubrecht,1881)
ปลาหมอสีคางดำเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น (Alien Species) ที่ทำลายระบบนิเวศของแหล่งน้ำธรรมชาติ และเสี่ยงต่อการรุกรานสัตว์น้ำท้องถิ่นของไทย นอกจากนี้ยังทำให้ชาวประมงเดือดร้อน สร้างความเสียหายจำนวนมาก และยังมีสัตว์สเปชี่เอเลี่ยนอื่นๆอีกมากที่ถูกลักลอบนำเข้ามาและหลุด/ปล่อยสู่ธรรมชาติ